แรงงาน

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชีวิต และงาน อารมณ์ พงศ์พงัน


ชีวิต และงาน อารมณ์ พงศ์พงัน
Life and Works of Arom Pongpangan

ในวาระครบรอบ 30 ปีการเสียชีวิตของคุณอารมณ์ พงศ์พงัน จดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ จึงขอเรียบเรียงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกร ยากที่จะหาผู้นำแรงงานที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นนักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหว เฉกเช่นคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย โดยใช้สหภาพแรงงานเป็นฐาน สร้างอำนาจต่อรอง และเป็นโรงเรียนการเมืองของคนงาน พร้อมทั้งเป็นนักประสานการเคลื่อนไหวการต่อสู้ขององค์กรประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง จนสร้างผลกระทบโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ และการสืบทอดอำนาจของเหล่าเผด็จการทหาร ซึ่งชนชั้นปกครองได้ตอบโต้โดยการปราบปรามประชาชน แต่คุก ตะราง ก็มิได้ปิดกั้นเสรีภาพนี้ได้ มันกับกลายเป็นประกายไฟให้คุณอารมณ์ได้ผลิตชิ้นงานวรรณกรรม และการวิพากษ์วิจารณ์สังคม (จากหนังสืออารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการกรรมกรไทย โดยมีนภาพร อติวานิชยพงศ์ เป็นบรรณาธิการ )

คุณอารมณ์ พงศ์พงัน เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2489 ที่ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ ชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนมัธยมพงันวิทยา เมื่อปี 2505

ในช่วงปี 2502 ถึง 2507 นั้น คุณอารมณ์ไปใช้ชีวิตเป็นชาวประมงจับปลา จะละเม็ด เป็นคนแจวเรือรับจ้างที่ท่าเกาะพงัน และไปเป็นคนงานในไร่มันสำปะหลังที่ระยอง ทั้งนี้เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี และได้กลับเข้าเรียนต่อ ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ แผนกวิทยาศาสตร์

เมื่อเรียนจบ ม.ศ. 5 ปี 2510 ได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิค โคราช แผนกวิชาช่างโยธา คุณอารมณ์ ถือว่าเป็นคนเรียนเก่งอยู่ในระดับแนวหน้า จนได้รับกิตติคุณในฐานะนักศึกษาเรียนดี และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุมภาษา และหนังสือของวิทยาลัย และเป็นประธานนักศึกษา

เนื่องจากค่าใช่จ่ายที่ทางบ้านส่งมาให้เดือนละ 500 บาท ไม่เพียงพอ คุณอารมณ์จึงต้องทำงานพิเศษ เพื่อหาเงิน โดยการเขียนหนังสือ เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ และบทกวี ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ อาทิเช่น สังคมปริทัศน์ สยามรัฐ ชาวกรุง สามยอด และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 1 กันยายน 2515 คุณอารมณ์ เข้าทำงานในการประปานครหลวง และได้ถูกส่งให้ไปเรียนรู้งานที่กองสำรวจ และออกแบบ งานอดิเรกของคุณอารมณ์ยังคงเขียนบทความคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราช ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการคัดค้านสงครามเวียดนาม เรื่องค่าแรงคนงาน เรื่องข้าวของแพง ขณะที่ตอนนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวการเมืองใด คำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ยังเป็นคำที่ผู้คนไม่เคยได้ยิน ไม่แพร่หลาย แต่คุณอารมณ์ได้ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว ปลายปี 2515 คุณอารมณ์ได้สมรสกับคุณอมรลักษณ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชื่อ เบญจภา พงศ์พงัน

ความคิดทางการเมืองเพื่อสังคม ได้ถูกแสดงออกมา เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คุณอารมณ์ได้ชักชวนเพื่อนๆเข้าร่วมชุมนุม ร่วมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กรณีการจับนักศึกษาที่แจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเชื่อของคุณอารมณ์ว่า "พลังมวลชนไม่มีใครสู้ได้" หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไปคุณอารมณ์ ได้เขียนบทความที่มีข้อคิดคล้ายเตือนว่า อย่าประมาท และอย่าไว้ใจอำนาจเผด็จการ ที่พร้อมจะทำทุกอย่างที่ไร้ศิลธรรมความปรานี

สหภาพแรงงานในความคิดของอารมณ์ พงศ์พงัน "สหภาพแรงงานได้แก่องค์กรคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กรรมกรผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจุดยืนแห่งการคุ้มครองผลประโยชน์นั้น อยู่บนพื้นฐานแห่งการปกครองด้านประชาธิปไตย" และสิ่งสมาชิก หรือกรรมกรต้องให้แก่สหภาพแรงงาน คือ ความพร้อมในการเป็นสมาชิก ให้ความไว้วางใจ อย่างเชื่อมั่น และศรัทธา เมื่อเข้าเป็นสมาชิกแล้วจะต้องเดินตามแนวทางลัทธิสหภาพแรงงานอย่างเคร่งครัด ในฐานะสมาชิก และจะต้องไม่เรียกร้องให้สหภาพแรงงานคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยไม่ชอบ ต้องไม่หวังที่จะอาศัยอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ไปเป็นเครื่องมือไต่เต้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

อารมณ์ ได้ร่วมจัดตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง เมื่อปี 2518 เริ่มจากผู้ก่อการที่รักความเป็นธรรมท่านอื่นๆ เช่น คุณกมล สุสำเภา คุณเอกชัย หาญกมล และมีการเปิดตัวสหภาพแรงงานฯ โดยการเปิดปราศรัยครั้งใหญ่ ซึ่งอารมณ์เป็นกำลังหลักที่ชี้แจงอธิบายตัวตนขององค์กรให้เพื่อนพนักงานทราบ
ด้วยความเป็นนักคิดนักเขียนของคุณอารมณ์ จึงรับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสหภาพแรงงานฯ และเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสาร ถังสูง ของสหภาพแรงงานการประปานครหลวง โดยรับภาระในการเขียนข้อเขียนต่างๆแทบจะคน ในปีเดียวกันได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย

ด้วยจิตใจที่ รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม ความไม่คุ้นต่อประชาธิปไตยในสังคมไทย กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ ด้วยความที่เป็นผู้นำ และความเป็นคนที่มีเหตุผล ทำให้อารมณ์ได้รับการยอมรับจากกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย และ บทบาทที่โดดเด่นของ อารมณ์ สร้างให้เกิดการยอมรับทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร เช่นการเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องของกรรมกรฮาร่า ที่ชุมนุมปิดโรงงานมานาน และอำนาจรัฐมีท่าทีที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อกรรมกร ที่สุดอารมณ์ได้รับเลือกให้เป็น คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกรรมกรชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หาทางออกให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างชาญฉลาด และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างหลายโรงงาน

บทบาทคุณอารมณ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม ในเวลาไม่กี่เดือน กระทั้งแวดวงเกษตรกร ปี 2519 คุณอารมณ์ได้รับเลือกเป็นกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร โดยร่วมกับรัฐบาล นิสิตนักศึกษา และผู้ประกอบการโรงสี
เนื่องจากรัฐบาลชุดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ตัดสินใจที่จะเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูก โดยอ้างว่า เพื่อผลักดันราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย จึงคัดค้านการเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูกของรัฐบาล เพราะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจคนยากจน ผู้ใช้แรงงานเดือดร้อนอยู่แล้ว การยกเลิกการขายข้าวสารราคาถูกไม่ได้เพื่อช่วยเหลือชาวนาตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะรัฐไม่สามารถที่จะควบคุมให้พ่อค้าคนกลาง เช่นโรงสีให้ซื้อข้าวเปลือกตามที่ประกันราคาได้ ทั้งนี้รัฐบาลต้องการที่จะช่วยเหลือพ่อค้าส่งข้าวออกนอกมากกว่า กลุ่มสหภาพแรงงานนำโดยนาย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้เรียกประชุมสหภาพแรงงานทั่วประเทศ และลงมติให้ดำเนินการนัดหยุดงานทั่วประเทศในวันที่ 2 มกราคม 2519 ทันที ด้วยท่าทีการแสดงออกที่แข็งกร้าว ได้ส่งผลสะเทือนแก่รัฐบาลทำให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมสหภาพแรงงาน และลงมติให้เคลื่อนขบวนกรรมกรออกนอกสถานที่ มาชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้า ในวันที่ 4 มกราคม 2519 ได้เข้าเจรจากับรัฐบาลในคืนนั้น ซึ่งทางกลุ่มสหภาพแรงงานฯได้ลดความตึงเครียดเสนอให้รัฐบาลจัดให้มีข้าวสารราคาถูกขายต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการพิสูจน์อัตราการแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร

ข้อเขียนของคุณอารมณ์ที่บันทึกในหนังสือกรรมกร ถึงจุดอ่อนของขบวนกรรมกรไทยว่า จากความเกลียดชัง และต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เมื่อองค์กรจัดตั้งของกรรมกรได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 แล้ว ความเห็นแก่ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ของผู้นำกรรมกรบางคน ได้ทำให้เกิดจุดอ่อนขึ้นภายในสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย) ความประสงค์ของบรรดาผู้นำกรรมกรขายตัว เข้ามาทำลายความสามัคคีภายในหมู่กรรมกรระดับสูง โดยอาศัยความเกลียดชังระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในระบอบแรงงานเสรี เข้ามาทำลายเจตนารมณ์ที่คัดค้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการภายในสภาแรงงานแห่งประเทศไทยให้พังทลายลงไป เพื่อเปิดโอกาสให้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการฟัสซิสต์เข้ามามีอำนาจ ความประสงค์ของบรรดากรรมกรขายตัวเหล่านี้ ก็เป็นผลสำเร็จหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เช่น การเข้ามาแทรกแซง การปลุกระดมให้เกิดความลุ่มหลงในลัทธิคลั่งชาติ เกลียดชังคอมมิวนิสต์แล้ว กล่าวหาว่าผู้นำกรรมกรมีความเป็นคอมมิวนิสต์

จุดอ่อนของสภาแรงงานแห่งประเทศไทยก็คือ การปล่อยให้บรรดาผู้นำกรรมกรประเภทขายตัว และเป็นนักฉวยโอกาส เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมีอิทธิพลภายในสูงมากเกินไป ตัวอย่างเช่น การใส่ร้ายป้ายสีนี้เกิดขึ้นในสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2518 ที่สวนลุมพินี ผู้ที่ใช้นามปากกาว่ากระแช่ ได้เขียนในคอลัมน์ข่าวสังคมของหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2519 ว่า "อารมณ์ พงศ์พงัน จะจัดงานฉลองวันชาติรัสเซียขึ้นที่สวนลุมพินีในวันที่ 1 พฤษภาคม 2519" เป็นผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง ในรูปของการถอยหลังเข้าคลองมากยิ่งขึ้น ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และทางสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งยุบเลิกในเวลาต่อมาอีกไม่กี่วัน ถือว่าเป็นการปิดฉากระบบสหภาพแรงงานตามลัทธิสหภาพแรงงานเสรี ในขณะที่รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นมาบริหารประเทศ แม้ว่าจะไม่ได้ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 เสียทั้งหมด

ในวันที่ 15 ตุลาคม 2519 อารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฎ จลาจล พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สะสมอาวุธ และซ่องโจร ทั้งที่อารมณ์ มิได้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เลย ช่วง 2 ปีที่ในคุกนี้เองโรคร้ายเริ่มคุกคามอย่างมาก ถึงกระนั้นอารมณ์ก็ใช้เวลาเขียนหนังสือออกมามากมาย ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร ฯลฯ

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อถือ จากหนังสือจดหมายจากคุก ที่ว่า
"เป็นเพียงการจากไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของเสรีชน ปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำกรรมกร เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั่วๆไป เป็นการจากไปที่มีเกียรติ" ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน และความผุกร่อนของระบบเผด็จการ ด้วยการยึดกุมการวิเคราะห์สังคมได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้เขามีความมุ่งมั่น และมีกำลังใจที่ไม่ย่อท้อ แม้บางช่วงเวลาขบวนการต่อสู้จะซวนเซ ซึ่งอารมณ์ได้บันทึกไว้ว่า ดอกไม้บานแล้ว บริสุทธิ์กล้าหาญ บานอยู่ในใจของประชาชน ผู้รักความเป็นธรรมทุกคน “เผด็จการนั้นไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ก็จะไม่สามารถดำรงอำนาจอยู่ในสังคมนี้ได้นาน”

การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ต้องเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตย ในทรรศนะของอารมณ์ ชี้ชัดว่าการต่อสู้เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ จะต้องให้ "ความสนใจทิศทางการเมือง" เพื่อให้ขบวนการนี้สามารถควบคุมพฤติกรรม และบทบาทของรัฐบาลต่อขบวนการแรงงาน "กรรมกรก็คือประชาชนผู้ทุกข์ยาก และต่ำต้อยของสังคม เช่นเดียวกับชาวนา” ในเมื่อกรรมกรสามารถรวมพลังอำนาจต่อรองได้ระดับหนึ่ง เราก็ควรสนใจทิศทางการเมืองให้มาควบคุมรัฐบาล ถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกรรมกรเสียแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่กรรมกรจะใช้ระบบสหภาพแรงงานไปต่อสู้ เราจะสนใจแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้

อารมณ์ ได้เน้นเสมอว่า บทบาทขบวนการแรงงาน ในการร่วมสร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตย ดังตอนหนึ่งในหนังสือว่า "ภายใต้กระแสทางการเมืองที่ล่อแหลมต่อระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้ากลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมกรที่มีการจัดตั้งไม่มีส่วนร่วม เพื่อใช้อิทธิพลจากอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจเข้าสนับสนุน ระบบการปกครองแบบนี้แล้ว กลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ก็ย่อมจะฉวยโอกาสในการทำลายระบอบประชาธิปไตยได้ง่ายขึ้น” ความเห็นเช่นนี้ถือว่า ไม่มีความล้าสมัยแม้แต่นิดเดียวในสังคมปัจจุบัน ความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี

ในบรรยากาศภายในประเทศที่ใช้ความรุนแรงกันอย่างอำมหิต อารมณ์ได้เขียนข้อความในบทนำของหนังสือกรรมกรว่า ผมไม่เคยนิยมการใช้วิธีรุนแรง สำหรับปัญหาทางด้านการเมืองที่เราคนในสังคมนี้ สามารถแก้ไขร่วมกันได้ โดยการใช้สมองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหา ด้วยการฆ่า และทำลายสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านความคิดด้วยแล้ว ผมอยากร้องตะโกนให้ก้องไปทั้งประเทศนี้ว่า ทำไมเราไม่พัฒนาความขัดแย้งนั้นให้เปลี่ยนรูปแบบจากในแง่การทำลายมาเป็นรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ เราต้องเข่นฆ่ากันด้วยหรือ?

ด้วยความเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงาน อารมณ์ มีความเห็นว่า ไม่ควรแยกองค์กรนำของผู้ใช้แรงงานระดับสูงเป็นหลายองค์กร เพื่อจะได้มีความเป็นเอกภาพ และเป็นปึกแผ่น ประกอบกันขึ้นเป็นพลังต่อรองที่เข้มแข็ง ในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนงาน และสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ซึ่งมีข้อความจากงานเขียนจากคุกถึงคุก

กรรมกรภายประเทศไทยควรจะสู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ก่อนสู้ เพื่อเศรษฐกิจของตัวกรรมกรก่อน ก่อนที่จะแยกออกเป็นกรรมกรฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา เพราะถ้าขืนทำเช่นนั้นในช่วงเวลานี้แล้ว แน่นอนที่สุดพลังการต่อรองของฝ่ายกรรมกรจะต้องลดน้อยลงไปอย่างมหาศาลกรรมกรจะต้องมาสู้กันเอง แทนที่จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของส่วนรวม ซึ่งแทบจะอยู่รอดไม่ได้ทางด้านเศรษฐกิจ”อารมณ์ เขายอมไม่ได้เด็ดขาดที่จะให้องค์กรสูงสุดแห่งนี้ มีการรวมอำนาจในมือผู้นำเพียงไม่กี่คน เพราะเขาย้ำเสมอว่าในการใช้อำนาจใดๆ นั้นต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นเรื่องหลัก และองค์กรของส่วนรวมนั้น "ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม"

16 กันยายน 2521 การประกาศนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฏ จลาจล และซ่องโจร ฯลฯ ได้รับอิสรภาพคืนสู่อารมณ์อีกครั้ง ด้วยความยินดี และความสุขของครอบครัว และผู้ใช้แรงงาน ทันที่ที่ออกมาก็เข้าแบกรับงานที่สหภาพแรงงาน และสภาองค์การลูกจ้างทันที ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาเขียนหนังสือเท่าที่สามารถทำได้

ช่วงปี 2522 ได้ร่วมทำวารสารข่าวคนงาน ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และได้รับการไว้วางใจให้เป็นประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง อีกครั้งหนึ่ง

ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น เรื่อง เพลงลาบทสุดท้าย จากสมาคมภาษา และหนังสือ และได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ร่วมกับคุณสุภาพ พัสอ๋อง

บทกวีต่างของอารมณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกความรักที่มีต่อครอบครัว เพื่อนผู้ใช้แรงงาน บ้านเมืองที่เป็นที่รัก เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมได้เพียง 10 เดือน โรคร้ายก็กำเริบ อารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลชลประทานถึง 4 ครั้ง โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากแพทย์ พยาบาล จนวินาทีสุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับเพียงวัย 34 ปี ท่ามกลางอาลัยของครอบครัว และเพื่อนญาติมิตร ผู้ใช้แรงงานที่ไปให้กำลังใจ ในเวลา 08.05 น.วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2523

การจากไปครั้งนี้ของอารมณ์ เป็นการจากไปตลอดชีวิตจนไม่สามารถจะบรรยายความสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนผู้ใช้แรงงาน ความดีของ อารมณ์ จะถูกจารึก ไว้นานเท่านานในใจของครอบครัวและทุกๆ คนรวมทั้งกรรมกรผู้ยากไร้
---------------------------------------------
* จากหนังสืออารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการกรรมกรไทย โดยมีนภาพร อติวานิชยพงศ์ เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน สนับสนุนการพิมพ์โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ราคา 150 บาท สั่งซื้อได้ที่ 02-516-1589 หรือส่ง FAX- 02-516-1071 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เลขที่ 026-0-91018-7 ชื่อบัญชีมูลนิธิอามรณ์ พงศ์พงัน (ส่งสำเนาจากธนาคารไปยังมูลนิธิฯ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น